Saturday, March 18, 2006
แก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น - ประเวศ วะสี
แก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น
ประเด็นคือการพิสูจน์ว่านายกรัฐมนตรีโกงชาติโกงแผ่นดินจริงหรือเปล่า ?
ประเวศ วะสี
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
๑. นายกรัฐมนตรีกับพวกโกงชาติแผ่นดินจริงหรือเปล่า
เดี๋ยวนี้ไปทางไหนทุกซอกทุกมุมทุกหนทุกแห่งคุยกันอยู่แต่เรื่องเดียว คือ เรื่องคำเล่าลือเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของนายกรัฐมนตรี ครอบครัว และกลุ่มของเขา มีผู้เพิ่มเติมเรื่องนั้นเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเกี่ยวกับโทรคมนาคม ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท การซื้อเครื่องบิน ๔ ลำโดยมิชอบเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ข้าราชการผู้ใหญ่เล่าว่าญาติของผู้มีอำนาจไปรีดไถจากงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ และใช้คำว่าเมื่อก่อนมันโคตรโกง เดี๋ยวนี้มันโกงทั้งโคตร
บางคนเล่าว่า ในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมูลค่าเป็นแสนล้าน มี “หัวหน้าโจร” กุมการกินอยู่เพียงผู้เดียว มีข่าวลือว่าครอบครัวของผู้มีอำนาจไปกว้านซื้อที่รอบ ๆ สนามบินสุวรรณภูมิไว้ ๖๐๐ ไร่ จะมีการใช้งบประมาณของรัฐลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเรียกว่าเป็นนครสุวร รณภูมิ ทำให้ที่ ๖๐๐ ไร่ นั้นขายได้กำไรประมาณไร่ละ ๑๒ ล้านบาท รวมแล้วจะกำไรกว่า ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ฯลฯ
เรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้เทมาเสกของสิงคโปร์ ๗๓,๐๐๐ ล้านบาท โดยไม่เสียภาษีสักบาทเดียว เป็นเรื่องช็อคความรู้สึกของคนอย่างขนานใหญ่ ประดุจเครื่องบินจัมโบ้เจตตกแล้วมีคนตาย ๔๐๐ คน มีการตื่นเต้นตกใจกันไปทั้งแผ่นดิน แต่จริง ๆ มีคนตายเพราะความไม่ถูกต้องในแต่ละวันมากกว่านั้นมาก
ถ้าการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ที่ขณะนี้กำลังเล่าลือกันขยายวงออกไปทุกที่เป็นความจริง มูลค่ารวมของการคอรัปชั่นมากกว่า ๗๓,๐๐๐ ล้านบาทมาก คงจะหลายแสนล้านบาททีเดียว
บางคนว่า คำว่า “เทมาเสก” นั้นมาจากคำว่า “ธรรมสิข” ซึ่งเป็นชื่อรัฐโบราณบนเกาะสิงคโปร์ ซึ่งเคยรบชนะ “เสียน” หรือ สยาม เขาเอาชื่อธรรมสิขหรือเทมาเสกไปตั้งชื่อกองทุนเพื่อตัดไม้ข่มนามว่าเพื่อมาย ึดสยามใช่หรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ สิงคโปร์มีทุนขนาดมหึมา ทั้งทุนของตัวเองและที่เป็นเอเยนต์ของอเมริกา และกำลังเข้ามายึดกิจการธนาคาร โรงแรม และกิจการอื่น ๆ ของไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ และล่าสุดโดยการซื้อชินคอร์ปก็ยึดการสื่อสาร ดาวเทียม สายการบินไปด้วย แน่นอนที่เดียวว่าสิงคโปร์เกาะเล็ก ๆ นี้กำลังใช้ทุนขนาดใหญ่เข้ายึดกิจการต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อใช้ให้คนไทยและกลไกของรัฐไทยทำงานหนักส่งผลประโยชน์ไปเลี้ยงสิงคโปร์
ผู้คนสงสัยว่าทุนไทยที่ยึดอำนาจทางการเมืองอยู่นี้จะร่วมมือกับทุนสิ งคโปร์ จึงเกิดประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการขายชาติขึ้นมา รวมเป็นโกงชาติโกงแผ่นดินและขายชาติ
แม้จะกล่าวกันว่าในทางสังคม ความเชื่อคือความจริง ก็ยังอยากตั้งคำถามเพื่อความเป็นธรรมว่า คำร่ำลือที่กำลังขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ที่ว่านายกรัฐมนตรีกับพวกโกงชาติโกงแผ่นดินและขายชาตินั้น จริงหรือเปล่า ควรจะมีการพิสูจน์กัน
๒. ถ้าจริง โทษเพียงยุบสภาหรือลาออกแค่นั้นหรือ
ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ไม่เข้าใจตรรกะทางการเมือง เพราะถ้านายกรัฐมนตรีโกงชาติโกงแผ่นดินและขายชาติจริง ทำไมทางออกจะเป็นยุบสภาหรือลาออกแค่นั้นละหรือ ดูไม่สมเหตุสมผลและแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะข้อกล่าวหานั้นยังอยู่
โทษขนาดนี้ ถ้าเป็นครั้งโบราณก็ตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร
เอาละสมัยนี้ อย่างน้อยน่าจะติดคุกและริบทรัพย์ !
ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหานั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องอื่น
๓. นายกรัฐมนตรีคือผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าจริงหรือไม่จริง
นายกรัฐมนตรีคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าข้อกล่าวหานั้นจริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรทำจึงมีดังนี้
(๑) ถ้าจริง ยอมรับสารภาพ ขอโทษ ยอมรับการลงโทษ กลับเนื้อกลับตัวทำความดี
(๒) ถ้าไม่จริง ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนนายกรัฐมนตรี ในเมื่อมันไม่จริง สอบสวนอย่างไร ๆ ก็จะพบว่ามันไม่จริง และถ้าคณะกรรมการอิสระประกอบด้วยคนที่ผู้คนเคารพนับถือว่ามีความยุติธรรมและ มีอิสระจริง ๆ รายงานของคณะกรรมการอิสระก็จะยุติข่าวลืออันไม่เป็นมงคลต่อนายกรัฐมนตรีลงได ้ ถ้าใช้กลไกเท่าที่มี เขาไม่เชื่อถือกันแล้ว เขาเชื่อว่าถูกแทรกแซงและครอบงำหมดแล้ว ไม่สามารถยุติคำร่ำลือได้แล้ว
๔. เป็นหน้าที่ของการเมืองภาคประชาชน
นายกรัฐมนตรีคงจะไม่ยอมทำอย่างหนึ่งอย่างใดในสองข้อข้างต้น จึงเป็นหน้าที่ของการเมืองภาคประชาชน ลำพังการเมืองของนักการเมืองมีข้อจำกัดมาก คงจะพาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยได้ยาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงบัญญัติการเมืองภาคประชาชนไว้เป็นอันมาก
มาตรา ๗๖ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ บัญญัติว่า “ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการ การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ”
ผมยกมาให้ดูเพียงมาตราเดียวเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการเมืองภาคประชาชน นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมหรือเดินขบวนเรียกร้องด้วยสันติวิธีสามารถทำได้ภายในกรอบของรัฐธรร มนูญ
มักจะมีการบิดเบือนความจริงว่าการชุมนุมเรียกร้องเป็นกระบวนการนอกกฎหมาย
เพราะรัฐบาลไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ จึงมีการชุมนุม การชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
๕. ศีลธรรมอยู่เหนือการเมืองอยู่เหนือกฎหมาย
คนไทยถูกครอบงำให้เข้าใจผิดว่า อำนาจทางการเมืองเป็นอำนาจสูงสุดหรือกฎหมายคืออำนาจสูงสุด เราก็เห็นกันแล้วว่า การเมืองมากำหนดศีลธรรมไม่ได้ กลับมาทำปู้ยี่ปู้ยำให้ศีลธรรมตกต่ำจนปั่นป่วนไปทั้งประเทศ ผู้มีอำนาจจะเรียกร้องให้ทำตามกฎหมาย แต่ถามว่าใครเขียนกฎหมาย
เขาแก้กฎหมายหรือเขียนกฎหมายใหม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาก็แก้กฎหมายจากให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน ๒๕% เป็น ๔๙% แล้วขายพรวดทันทีทันใดเลยได้กำไรก้อนโต
เพราะฉะนั้นจะถือว่ากฎหมายคือความถูกต้องสูงสุดไม่ได้ เพราะเกได้โกงได้ โบราณก็บอกว่าธรรมศาสตร์อยู่เหนือนิติศาสตร์ หรือธรรมอยู่เหนือกฎหมาย
ศีลธรรมจะอยู่ใต้การเมืองและใต้กฎหมายไม่ได้ การเมืองของพลเมืองจะต้องเคลื่อนไหวให้ศีลธรรมอยู่เหนือการเมืองและเหนือกฎห มาย ประชาชนจะต้องเป็นเจ้าของศีลธรรม และเป็นผู้กำหนดให้การเมืองทำตามศีลธรรม ต้องปรับและกำกับให้ความถูกต้องกับความถูกกฎหมายอยู่ที่เดียวกัน
นายกรัฐมนตรีจะมาสอนศีลธรรมให้ประชาชนไม่ได้
แต่ประชาชนจะต้องสอนและกำกับให้นายกรัฐมนตรีมีศีลธรรม
๖. ปิดยุคการเมืองธนกิจ เปิดยุคการเมืองของพลเมือง
ตราบใดที่ธนกิจเข้ามาครอบงำการเมือง ความปั่นป่วนวุ่นวายเสื่อมเสียศีลธรรมจะมีมากขึ้น กระทบการพัฒนาทุก ๆ ด้าน คนไทยทั้งหมดจะต้องตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ศีลธรรมเป็นพลังของแผ ่นดิน ต้องรำลึกถึงพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
แผ่นดินจะต้องมีศีลธรรมเป็นพลัง ไม่ใช่เงินขนาดใหญ่ที่ไร้ศีลธรรม ประชาชนจึงจะร่มเย็นเป็นสุข
ธงชัยของการเมืองภาคประชาชน คือ การขับเคลื่อนทางศีลธรรม
ให้ศีลธรรมอยู่เหนือการเมืองและเหนือกฎหมาย
พลังทางศีลธรรมโดยการเมืองภาคประชาชนจะต้องเข้าไปขจัดปราบปรามคอร์รั ปชั่น สร้างระบบการเมืองที่มีศีลธรรมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มีศีลธรรมเป็นฐา น ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือเศรษฐกิจศีลธรรม
พวกเราคนไทยจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศไทยที่สง่างาม สันติ พอกินพอใช้ มีน้ำใจไมตรีต่อกัน ด้วยพลังทางศีลธรรม
การเมืองของนักการเมืองอย่างเดียว ต่อให้ดีอย่างไรก็ไม่เป็นพลังทางศีลธรรมพอเพียง
การเมืองภาคประชาชนจะต้องเป็นพลังทางศีลธรรมของแผ่นดิน